สนทนาการ์ตูนฝรั่ง: แบบไหนถึงเรียกว่า "ลอก"?



เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้พูดถึงการ์ตูน The Lion Guard ที่มี Cutie Mark แบบ My Little Pony ซึ่งแฟนๆก็มีการตั้งประเด็นว่ามันจงใจลอก My Little Pony หรือเปล่า บทความวันนี้จึงอยากจะขยายความให้ทุกคนได้เข้าใจว่า การ "ลอก" ไอเดียเนี่ยมันมีมาอย่างไรบ้าง และแบบไหนถึงจะเรียกว่า "ลอก" ของจริง?

แต่ก่อนจะไปเรื่องนั้น จริงๆ Disney เคยโดนกล่าวหาว่าลอกมาแล้วกับประเด็น The Lion King กับเรื่อง Kimba the White Lion การ์ตูนของ อ.เท็ตสึกะ โอซามุ ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องของลูกสิงโตที่เสียพ่อไป และต้องพบกับวัยเด็กที่ไม่มีพ่อ เนื่องจากเรื่อง Kimba มาก่อน The Lion King และองค์ประกอบบางอย่างก็คล้ายกันเหลือเกิน มีลิงบาบูนเหมือนกัน ผู้ร้ายก็เป็นสิงโตเหมือนกัน มีไฮยีน่าเหมือนกัน มีนกเป็นเพื่อนเหมือนกัน และมักมีพ่อปรากฎตัวออกมาบนฟ้าคอยบอกสิ่งที่ตัวเอกต้องทำ

ผมไม่ขอฟันธงอะไรทั้งนั้น ใครอยากเชื่อว่าลอกก็ไม่ว่ากัน แต่ผมจะนำเสนอมุมมองอีกมุมให้ฟังกัน อย่างแรกคือ ไม่มีการฟ้องร้องจากทางญี่ปุ่น จุดนี้สำคัญมา อ.เท็ตสึกะเป็นนักเขียนการ์ตูนระดับโลก ถึงเขาจะเสียชีวิตไปแล้วตอนที่ The Lion King ฉาย แต่ยังไงทายาทหรือผู้ดูแลทรัพย์สินก็ต้องมีฟ้องร้องกันบ้างแหละ อย่างที่สองคือ เนื้อเรื่องมีเซ็ตติ้งเหมือนกันคือแอฟริกา และในเรื่องสิงโตคือเจ้าป่า ดังนั้นถ้าผู้ร้ายไม่ใช่สิงโตด้วยกัน แล้วจะให้เป็นใคร? เป็นช้างเหรอ? ที่ตัวละครอะไรคล้ายๆกันไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเซ็ตติ้งมันคือที่เดียวกัน แอฟริกามีสัตว์เด่นๆไม่กี่ชนิด ดังนั้นการหยิบสัตว์พันธุ์เดียวกันมาใช้จึงไม่แปลก
Kimba the White Lion กับ The Lion King
แต่คือสุดท้ายแล้วไม่มีคำตอบที่แท้จริง เพราะ The Liong King ก็มีเนื้อเรื่องและเนื้อหาที่ต่างกับ Kimba รวมทั้งส่วนใหญ่เวลาอ่านคอมเมนท์หลายคนใช้ความเป็น "แฟนบอย" เข้าข่มกันมากกว่า แฟนบอยญี่ปุ่นก็เชื่อว่าลอกเพราะมาก่อน แฟนบอยฝรั่งก็เชื่อว่าไม่ได้ลอกเพราะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ดังนั้นผมไม่สรุปอะไรทั้งนั้น (ยกเว้น Nadia กับ Atlantis อันนี้ผมค่อนข้างเชื่อว่า Disney ลอกมา)
เพราะความนิยมของ Charlie's Angels
ทำให้เกิดการผลิตการ์ตูนที่มีคำว่า Angels อยู่ในเรื่องเพื่อเกาะกระแส
วกกลับมาที่ประเด็นหลักของเรากันต่อ ในการผลิตสื่อออกมาสักชิ้นนั้น สิ่งสำคัญคือต้องการให้ "ขายได้" จึงไม่แปลกที่จะมีการหยิบยืมไอเดียที่ประสบความสำเร็จก่อนหน้าเพื่อเกาะกระแสนิยม ซึ่งมันมีมาตั้งนานแล้ว เช่นในยุค 80 ซึ่งมีกรณีของ Charlie's Angels ซีรี่ส์สายลับที่ดังมากๆ จนค่ายการ์ตูนคิดเกาะกระแสนี้ด้วยการผลิตการ์ตูนให้มีคำว่า Angels ในชื่อเรื่อง

จนถึงทุกวันนี้การเกาะกระแสยังมีอยู่ ไล่มาตั้งแต่วงการหนังที่มีหนังแนว Mockbuster ที่ตั้งชื่อคล้ายหนังดังเพื่อหลอกให้คนหยิบผิด ในวงการเกมมีเกมที่ใช้แนวทางคล้ายๆกัน เช่น Monster Hunter ที่เป็นต้นแบบเกมแนว "ล่าสัตว์ประหลาด" ที่ทำให้ค่ายอื่นทำออกมาเหมือนๆกัน หรือแม้แต่วงการหนังสือ เช่น ไลท์โนเวล ที่มีการผลิตเนื้อหาที่คล้ายคลึงกับออกมาตามกระแสในเวลานั้น เช่น แนวติดอยู่ในเกม หรือแนวตายเกิดใหม่/ถูกอัญเชิญมาต่างโลก

แต่ถ้าถามว่าสิ่งเหล่านั้นคือการลอกมั้ย? ก่อนจะตอบคำถามนี้ก็ต้องเข้าใจกันก่อนว่า ลอกมันคืออะไรกันแน่ ลอก หมายถึงการขโมยไอเดียของสิ่งต่างๆและนำมาเป็นของตัวเอง อย่างเช่นกรณีของ "พี่จีน" ที่ก็อปปี้ทุกอย่างตั้งแต่สากกระเบือยันเรือดำน้ำเพื่อนำมาขายเป็นสินค้าตัวเอง หรือกรณีของเด็กมัธยมขโมยไอเดีย MV ของต่างประเทศมาเพื่อเข้าประกวด แบบนี้คือลอกชัดๆอย่างไม่ต้องสงสัย

แล้วการเกาะกระแสคือการลอกหรือไม่ การจะตอบคำถามนั้นได้ต้องถามก่อนว่าแล้วแก่นของมันเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ผลงานทุกชนิดล้วนมีแก่นของมันทั้งนั้น ถ้าผลงานคล้ายกันแต่แก่นของมันต่างกัน มันไม่ใช่การลอกเลียนแบบ แต่เป็นการตีความใหม่ต่างหาก ยกตัวอย่างเช่นกรณีกระแสนิยายรหัสคดีดังขึ้นมาในช่วงที่ Sherlock Holmes ดังขึ้นมานั้น นักเขียนหลายคนต่างรังสรรค์นักสืบในรูปแบบของตัวเองขึ้นมามากมายซึ่งล้วนแต่เป็นการตีความนักสืบในแบบของนักเขียนแต่ละคน การตีความอะไรใหม่ๆนี่แหละที่ตัวก่อกำเนิดการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง เพราะเป็นการสร้างความหลากหลาย สามารถพัฒนาต่อยอดได้ และทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการตัดสินใจมากขึ้น ทุกวันนี้ผลงานสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาตีความใหม่อยู่มากมาย เช่น Batman ที่ต่อยอดจาก Zorro อีกทีหนึ่ง เป็นต้น

ถึงทั้ง 3 เกมจะมีไอเดียเดียวกัน แต่ความแตกต่างทางองค์ประกอบอื่นๆ
สร้างความแตกต่างให้กับผู้บริโภคได้เลือกสรรค์เกมที่เหมาะกับรสนิยมได้

นอกเหนือจากการจงใจหยิบยืมไอเดียที่มีมาตีความใหม่แล้วยังมีอีกกรณีหนึ่ง นั่นคือบังเอิญเหมือนกัน คนที่เคยสร้างสรรค์ผลงานอะไรขึ้นมาย่อมเคยเจอบ้างที่สิ่งที่เราคิดบังเอิญไปตรงกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ดังเช่นกรณีของ Dennis the Menace ซึ่งเรื่องเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมปี 1951 เมื่อนักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกันและชาวอังกฤษที่อยู่คนละประเทศ ต่างบังเอิญสร้างสรรค์ตัวละครขึ้นมาเหมือนกันในชื่อเหมือนกัน คือ Dennis the Menace และปรากฎตัวในเดือนเดียวกัน ถือเป็นเรื่องบังเอิญที่เหลือเชื่อสุดๆ (ต่อมา Dennis อังกฤษ เปลี่ยนชื่อเป็น Dennis the Gnasher เวลาไปขายนอกประเทศอังกฤษ)

เกิดปีเดียวกัน เดือนเดียวกัน สัปดาห์เดียวกัน ชื่อเหมือนกัน ชุดเหมือนกัน แต่อยู่คนละประเทศ

ทีนี้ก็มาถึงเรื่อง My Little Pony กันบ้าง จริงๆแล้วไอเดียใช้เครื่องหมายบอกลักษณะตัวละครนั้น Care Bears ทำออกมาก่อนแล้วถึง 3 ปี แบบนี้แปลว่า My Little Pony ลอกมาใช่มั้ย? มันก็ตอบไม่ได้ Bonnie อาจจะคิดมาก่อนแล้วมันบังเอิญตรงกันก็ได้ ดังนั้นแล้ว The Lion Guard ที่มีเครื่องหมายที่หัวไหล่ตัวเอก ก็เหมือนกัน อาจจะเป็นการหยิบยืมมาใช้ หรืออาจจะเป็นการวิจัยตลาดและการผลิตของเล่นมาแล้วบังเอิญตรงกัน และไม่แน่ว่า The Lion Guard อาจจะเป็นการตีความใหม่ที่ต่างจาก My Little Pony ก็เป็นได้

ดังนั้นสรุปแล้วเราจะวัดได้อย่างไรว่าอะไรคือลอกไม่ลอก คำตอบคือ ถ้ามันคล้ายๆกันมันนับว่าลอกได้ทั้งนั้นแหละ (ภาษาอังกฤษมีคำว่า Rip off อยู่) แต่คุณค่าของมันจะนับว่าลอกไม่ลอกก็ต้องดูที่ว่าหยิบยกมาทั้งหมดโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ถ้าแก่นของมันเปลี่ยนไปเป็นอีกมุมมองหนึ่ง ก็นับว่ามันได้เปลี่ยนตัวเองไปสู่การตีความใหม่แล้ว

-LimeSherbet

Source:
https://www.youtube.com/watch?v=lusYgY7p7uA
http://www.cracked.com/article_18788_the-5-most-mind-blowing-coincidences-all-time.html
http://www.comicvine.com/dennis-the-menace/4005-46180
http://www.comicvine.com/dennis-the-menace/4005-30034

No comments:

Post a Comment