สนทนาการ์ตูน: ต้องแปลงบทแบบไหนถึงจะดี?



เมื่อสัปดาห์ก่อนผมไปดูหนัง Attack on Titan มา ที่ผมค่อนข้างน่าสนใจคือรีวิวระหว่างคนไทยด้วยกันมักจะพูดถึงประเด็นที่หนังแปลงบทจากการ์ตูนไปมาก โดยเฉพาะการตัดตัวละครสำคัญออกไปซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับแฟนๆอย่างมาก

ในโลกภาพยนตร์นั้น การแปลงบทจากต้นฉบับเพื่อมาทำหนังนั้นเป็นเรื่องปกติอย่างมาก แต่ผมกลับมีคำถามว่าถ้าอย่างนั้นแล้วต้องแปลงบทแบบไหนถึงจะเรียกว่าดี? The Last Airbender ตัดเนื้อเรื่องออกไปมากคนกลับมองว่าไม่ดี แต่ Harry Potter เองก็ตัดเนื้อเรื่องออกไปแต่กลับมองว่าทำได้ดี? ทำไม Edge of Tomorrow แปลงเนื้อเรื่องเยอะมากถึงขั้นเปลี่ยนสัญชาติตัวเอกแต่ไม่มีใครว่า? แต่ Attack on Titan เพิ่มตัวละครไปคนกลับไม่ชอบ?

ดังนั้นบทความวันนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กัน

ผมเชื่อว่าคำถามแรกที่ทุกคนอยากถามคือทำไมต้องแปลงบทเพื่อทำหนังด้วย? คำตอบคือเพราะองค์ประกอบของหนังต่างกับสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลา (ทีมีแค่ 1-2.5 ชั่วโมง) ไม่สามารถมี Climax หลายๆครั้งแบบการ์ตูนหรือเกมได้ รวมไปถึงเทคนิคที่ต่างกัน (การ์ตูนภาพนิ่งวาดให้อลังการยังไงก็ได้ถ้าวาดได้ แต่ภาพยนตร์กลับต้องใช้เงินมหาศาล) และแน่นอนว่าประเด็นสำคัญที่สุดคือเงิน นักเขียนบทชาวญี่ปุ่นได้ให้สัมภาษณ์ว่าที่ต้องแปลงบทเพราะหากใช้บทเดิมๆ ก็จะมีแต่แฟนต้นฉบับเท่านั้นที่จะติดตาม ดังนั้นต้องแปลงบทเพื่อให้บุคคลภายนอกเข้าถึงได้ด้วย ดังนั้นการแปลงบทจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น

แล้วหนังที่ดีจำเป็นต้องมีการแปลงบทที่ดีมั้ย? ไม่จำเป็น พราะเคยมีกรณีของ Alan Moore ผู้วาดคอมมิค Watchmen และ V for Vendetta ที่กล่าวว่าฉบับภาพยนตร์แปลงบทแย่มากๆ ทั้งที่หนังได้รับเสียงวิจารณ์ค่อนข้างดี ดังนั้นแปลว่าการแปลงบทไม่มีส่วนกับคุณภาพหนัง แต่ในขณะเดียวกันหนังจากเกมหรือการ์ตูนส่วนใหญ่มักจะได้บทวิจารณ์แง่ลบจากการแปลงบทไม่ดีเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่หนังที่แปลงบทไม่ดี มักจะมีบทหนัง การกำกับ และตัวละครที่ไม่ดีตามด้วย

ถึงจะได้รับคำวิจารณ์ที่ดี แต่เจ้าของต้นฉบับกลับไม่ปลื้มกับตัวหนังเลย (ภาพจาก IMDB.com)

แล้วการแปลงบทที่ดีควรเป็นทำยังไง? ควรจะเปลี่ยนให้น้อย เช่น Death Note ทีวีซีรี่ส์ปี 2015 ที่เปลี่ยนคาแร็คเตอร์หลายคน แต่การดำเนินเรื่องยังเหมือนเดิม หรือทำให้แตกต่างมากๆ เช่น Attack on Titan ที่เพิ่มตัวละครใหม่เข้ามาทำให้เนื้อเรื่องเปลี่ยนไปทั้งหมด

ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะมีเหตุผลที่ต่างกัน บางคนอาจจะคิดว่าต้องเป๊ะให้มากที่สุด บางคนอาจจะคิดว่าต้องแตกต่างเยอะๆเพราะอยากดูอะไรใหม่ๆ แต่สำหรับผมแล้วผมคิดว่าการแปลงบทที่ดี ควรจะจับ แก่นของเรื่องให้ได้เป็นหลัก ถ้าสมมุติผมพูดถึง Harry Potter จะนึกถึงอะไร? ก็โรงเรียนเวทมนตร์ การไขความลับในโรงเรียน การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และการต่อสู้กับเหล่าร้าย ดังนั้นการแปลงบทที่ดีควรจะจับแก่นพวกนี้ไว้ให้มากที่สุด พวกเรื่องย่อยๆ เช่น การแข่งควิดดิชแมตช์ย่อยๆ ที่จำเป็นน้อยลงไปจะตัดออกไปก็ได้ไม่เป็นไร ตัวละครจะเปลี่ยนอุปนิสัยไปเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่แก่นของตัวละครนั้นๆยังอยู่ครบถ้วน ดังนั้นแล้วภาพยนตร์ Harry Potter จึงแปลงบทได้ดีมาก เพราะถ่ายทอดแก่นพวกนี้ได้ครบถ้วน

กรณีของหนังจากคอมมิคซูเปอร์ฮีโร่ ที่ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากต้นฉบับไปบ้าง แต่คอมมิคนั้นเป็นสื่อที่มีอิสระในตัวมันเอง แนวคิดการสร้างจักรวาลคู่ขนานและตัวตนใต้หน้ากากฮีโร่ไม่ได้มีแค่คนเดียว เนื้อเรื่องแตกแขนงได้หลากหลาย ทำให้ถึงแม้ Robin ใน Batman ใน Dark Knight Trilogy ไม่ใช่ Dick Grayson หรือคนสร้าง Ultron กลายเป็น Iron Man แทนที่จะเป็น Ant-Man (เพราะ Ant-Man ฉบับหนังเป็นตัวละครหัวขโมยแทน) ก็ไม่ได้ทำให้ตัวบทมีปัญหาอย่างไร ตราบใดที่หนังยังคงจับแก่นแท้ของคอมมิคซูเปอร์ฮีโร่ได้อยู่

ถึง Thor จะเป็นมนุษย์ต่างดาวแทนที่จะเป็นเทพเจ้าใน Marvel Cinematic Universe แต่นั่นก็ไม่ทำให้แก่นของเรื่องเปลี่ยนไป
Thor ยังคงมีค้อน และต้องต่อสู้กับอำนาจมืดอยู่ดี

ทว่านอกเหนือจากการจับแก่นแท้ของต้นฉบับให้ดีแล้ว ผมยังมีปัจจัยหนึ่งที่จะวัดว่าแปลงบทดีหรือไม่ดี นั่นคือสิ่งที่เปลี่ยนต้องสมเหตุสมผล ยกตัวอย่างเช่น Edge of Tomorrow ที่แปลงบทเงื่อนไขการย้อนเวลาให้ง่ายขึ้นเพื่อให้หนังเข้าใจง่าย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเรื่องอย่าง The Last Airbender ซึ่งในต้นฉบับเหล่า Earthbender ถูกขังอยู่ในเรือเหล็กซึ่งควบคุมไม่ได้เลยหนีไม่ได้และเป็นการทำลายขวัญกำลังใจให้สมกับเป็นคุก แต่พอเป็นภาพยนตร์กลับเปลี่ยนให้อยู่ท่ามกลางผืนดินที่สามารควบคุมกันได้แต่กลับไม่กล้าที่จะสู้ ทั้งๆที่ Earthbender รากฐานทางวัฒนธรรมคือความภาคภูมิใจและความสามัคคี ทำให้เหตุผลของการเปลี่ยนฟังไม่ขึ้น หรืออย่างกรณีของภาพยนตร์ Teenage Mutant Ninja Turtles 2014 การแปลงบทให้ April เป็นผู้เลี้ยงดูเต่านินจาตั้งแต่ยังเป็นเต่าทำให้ความสัมพันธ์ของตัวละครสมเหตุสมผล แต่เปลี่ยนให้ Splinter อ่านหนังสือวิชานินจาแล้วกลายเป็นยอดฝีมือนินจาไปเลยนั้นงี่เง่าสิ้นดี คนเขียนบทคิดอะไรของมันเนี่ย? (ต้นฉบับ Splinter เป็นยอดฝีมือนินจาที่กลายเป็นหนู บางภาคเปลี่ยนให้เป็นหนูของยอดฝีมือนินจา แล้วจดจำกระบวนท่าแล้วกลายมาเป็นคนสอนพวกเต่านินจา)

การเปลี่ยนความสัมพันธ์ของ April กับเต่านินจาฉบับในภาพยนตร์สมเหตุสมผลดีและไม่ทำให้รู้สึกขัดแย้งใดๆ
แต่การเปลี่ยนบทที่ให้ Splinter เรียนวิชานินจาจากหนังสือที่มันงี่เง่าสิ้นดี

ดังนั้นสรุปแล้วสำหรับผมมองว่าการแปลงบทหนังที่ดีต้องมีสององค์ประกอบ
1. จับแก่นแท้ของต้นฉบับได้
2. ส่วนที่เปลี่ยนต้องสมเหตุสมผล

แล้วคนอื่นๆคิดว่ายังไงบ้างล่ะ คิดว่าการแปลงบทที่ดีควรจะเป็นอย่างไร คิดว่าหนังเรื่องไหนแปลงบทได้ดีหรือไม่ดีบ้าง คอมเมนท์บอกกันได้

- LimeSherbet

Source:
http://moe-select.com/archives/12228
https://en.wikipedia.org/wiki/Film_adaptation
http://www.cheatsheet.com/entertainment/9-awful-film-adaptations-of-great-books.html
https://youtu.be/nSu0HeRnG18
https://www.reddit.com/r/flicks/comments/3holee/how_accurate_should_an_adaptation_be_to_the/

No comments:

Post a Comment