[รีวิว] แอนิเมชั่นขนาดสั้นที่เข้าชิงออสการ์ปี 2016



ออสการ์บรรจบวนมาอีกปีก็แปลว่าถึงเวลาผมก็ได้มีโอกาสชมแอนิเมชั่นขนาดนั้นที่เข้าชิงออสการ์ของปีนี้แล้ว สำหรับปีนี้โชคดีที่ผมได้ดูครบทุกเรื่อง (ทุกวันนี้ยังหาอีกเรื่องของปีที่แล้วไม่เจอเลย มันไม่มีที่ไหน) ดังนั้นแล้วก็ถึงเวลาต้องมารีวิวให้ทุกท่านได้ชมกัน

ของปีที่แล้ว: http://limesherbet-th.blogspot.com/2015/02/4-5.html

อ้อ สปอยล์นะ

*** Prologue ***


Prologue เป็นเรื่องราวของการต่อสู้ของผู้ชายกลุ่มหนึ่ง ผ่านทางแอนิเมชั่นที่ลงสีด้วยสีไม้


ถ้าว่ากันตามตรง Prologue เหมือนพยายามขายงานแอนิเมชั่นมากกว่าเนื้อหา เพราะเนื้อหามันไม่มีอะไรจริงๆ มีแต่คนสู้กัน (เห็นบอกเป็นสปาร์ตันกับทหารกรีก) แถมผู้ชายบางคนก็เปลือยกายแบบเห็นชัดเจนไม่มีเซนเซอร์อีกต่างหาก ถ้าจะให้คะแนนผมให้คะแนนที่เทคนิคภาพอย่างเดียว เพราะดูเหมือนจะเป็น frame-by-frame และลงสีด้วยสีไม้ ซึ่งผมว่าก็สวยและเป็นเอกลักษณ์ดี เรื่องนี้ผมให้ 2/5

*** Sanjay's Super Team ***


เนื้อเรื่องเป็นเรื่องของเด็กชาย Sanjay ที่ชอบการ์ตูนและของเล่นซูเปอร์ฮีโร่ จนเมื่อพ่อของเขาที่พยายามจะสวดมนต์บังคับให้เขามาสวดมนต์ด้วย  ทำให้โลกจินตนาการของ Sanjay ปะทุออกมา


เมื่อเรื่องนี้มาจากฝีมือของ Pixar ก็แน่นอนว่าย่อมมีอะไรแปลกใหม่แน่นอน สำหรับ Sanjay นั้นโดดเด่นที่การผสมผสานระหว่างงานภาพคู่กับแนวคิดของความแตกต่างทางวัฒนธรรมเก่า (ศาสนา) กับวัฒนธรรมใหม่ (ซูเปอร์ฮีโร่) ฉากบู้ในจินตนการของ Sanjay นั้นสนุกและตื่นตาอย่างมาก ซึ่งอันนี้ต้องชม Pixar ที่ออกแบบเทพของอินเดียได้เจ๋งจริงๆ เสียอย่างเดียว ผมว่าตอนจบรวบเกินไปหน่อย เพราะมันจบแบบ Sanjay วาดรูปเทพ พ่อเห็นว่าลูกชอบเรื่องศาสนาแล้วเลยมาคุยกัน มันเร็วไปหน่อยมั้ย? เรื่องนี้ผมให้ 4/5

***  We Can’t Live Without Cosmos ***


เรื่องราวของเพื่อนสองคนที่ฝึกฝนเพื่อจะเป็นนักบินอวกาศ


เนื้อหาจะมีสองส่วน คือส่วนแรกเป็นเรื่องของสองเพื่อนที่ฝึกด้วยกันจนเป็นนักบินอวกาศ จนกระทั่งส่วนที่สองเมื่อทั้งสองได้เป็น แต่ไปอวกาศคนเดียว อีกคนสำรอง เมื่อเพื่อนคนแรกตายในอวกาศ เพื่อคนที่สองก็โศกเศร้าจนไม่ยอมทำอะไรและทำให้เกิดเรื่องวุ่นที่ศูนย์ฝึก งานภาพสะอาดดูง่ายดี แต่เนื้อหาหนักพอสมควรกับคำว่า We Can't Live Without Cosmos (เราอยู่โดยไม่มีจักรวาลไม่ได้) ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นประโยคแทนความสัมพันธ์ที่เพื่อนอีกคนไม่สามารถอยู่ได้โดยขาดเพื่อน เรื่องนี้ผมให้ 4/5

*** World of Tomorrow ***


เมื่อเด็กหญิง Emily ได้รับการติดต่อจากตัวเองในโลกอนาคต


เนื้อหาหลักๆของ World of Tomorrow นั้นจะเป็นการเล่าเรื่องของ Emily รุ่นที่สามในโลกอนาคตให้ Emily ต้นแบบฟังว่าโลกอนาคตนั้นหดหู่และเลวร้ายขนาดไหน (เช่น มีศิลปินเอาโคลนตัวเองมาถอดสมองออกแล้วจัดแสดงให้คนเห็นโคลนตัวเองโตจนแก่ตาย หรือว่า Emily ที่หลงรักก้อนหินและสัตว์ประหลาดนอกโลก) คอนเซ็ปท์ของ World of Tomorrow ไม่ใช่ของใหม่ เพราะมันคือ Dystopia Future หรืออนาคตที่ล้ำยุคจนน่าหดหู่ เนื้อหาของเรื่องนี้อยู่ที่การมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน โดยมี Emily ที่เป็นเด็กก็เป็นตัวแทนของปัจจุบันนั่นเอง ขณะที่งานภาพนั้นน่าทึ่งดีตรงที่ภาพมันง่ายๆนะ แต่พวกฉากอะไรนี่ทำออกมาลึกซึ้งดีเลยล่ะ เรื่องนี้ผมให้ 3/5

*** Bear Story (ผู้ชนะ)***


Bear Story เป็นเรื่องของหมี ที่เล่าเรื่องของตัวเองให้ลูกหมีฟัง


เนื้อเรื่องคือหมีตัวหนึ่งทำกล่องของเล่นแล้วเอาไปแสดงเพื่อหาเงิน ลูกหมีตัวนึงก็เข้ามาดู เนื้อเรื่องในนั้นเป็นเรื่องของตัวเขาเอง ที่มีลูกมีเมีย วันหนึ่งถูกจับไปแสดงละครสัตว์ พอหนีมาได้กลับบมาก็ได้พบกับลูกเมีย แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว เขาไม่ได้เจอลูกเมียอีกเลย เรื่องนี้โดดเด่นที่รายละเอียด ทั้งจากฉากปกติ ที่เราจะได้เห็นพวกรอยยุบบนเตียงหมี หรือในฉากกล่องของเล่นที่ใช้ตัวละครเป็นหุ่นกลไกแทน ซึ่งไม่ว่าจะอันไหนก็มีรายละเอียดที่เนี้ยบมากจริงๆ แต่ถ้าไม่นับตรงนั้นแล้บผมกลัวมองว่าเรื่องนี้ยังไม่มีอะไรเด่น หนังเน้นไปที่ความน่าสงสารของหมีเป็นหลัก และความงงใน lore ของเรื่องว่าในเมื่อโลกนี้สัตว์มันฉลาดเท่ามนุษย์แล้วทำไมยังมีคนสัตว์ไปแสดงละครสัตว์อีกเนี่ย? หรือไม่ก็เรื่องลูกเมียของหมีตกลงหายไปไหน? โดนจับด้วย หรือว่าตาย? แต่ไม่ว่ายังไง เรื่องนี้ก็สมศักดิ์ศรีผู้ชนะกับความเนี้ยบของงานภาพแล้ว เรื่องนี้ผมให้ 4/5

*** สรุป ***

เป็นอันจบไปสำหรับปีนี้ ซึ่งผมว่า Bear Story ก็สมกับผู้ชนะดี แต่ถ้าว่ากันตามตรงผมชอบ Sanjay มากกว่าด้วยว่าหนังพยายามผสมผสานวัฒนธรรมซึ่งผมว่าเป็นอะไรที่ใกล้ตัวเราและไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก เอาเป็นว่าปีหน้าคงได้มารีวิวกันอีกแน่นอน

แล้วคุณล่ะ? ชอบ/ไม่ชอบเรื่องไหนกันบ้าง

No comments:

Post a Comment